น้ำหนักลดผิดปกติ อย่าเพิ่งคิดว่าดี เพราะอย่างนี้เสี่ยงหลายโรค !
น้ำหนักลดฮวบฮาบอาจไม่ใช่เรื่องน่าดีใจ เพราะข้างในร่างกายเราอาจมีความผิดปกติอยู่ก็เป็นได้ มาเช็กกันซิว่าน้ำหนักลดผิดปกติบอกโรคอะไรได้บ้าง
หากอยู่ ๆ น้ำหนักก็ลดลงอย่างน่าแปลกใจ หรือดูผอมกว่าปกติทั้งที่เราก็ไม่ได้ทำอะไรต่างไปจากเดิม แบบนี้ไม่น่าไว้ใจเลยนะคะ เพราะเป็นสัญญาณที่บอกได้หลายโรคเลยกับอาการน้ำหนักลดลงผิดปกติ เอาเป็นว่าใครผอมลงอย่างรวดเร็วก็รีบไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่า เพราะไม่แน่อาจเจอโรคเหล่านี้อยู่ก็ได้
น้ำหนักตัวลด แบบไหนเรียกว่าผิดปกติ
ภาวะน้ำหนักตัวลดผิดปกติในทางการแพทย์จะหมายถึง การที่น้ำหนักตัวลดลงไปมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัว ภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหรือน้อยกว่า เช่น หากเคยหนัก 60 กิโลกรัม แล้วน้ำหนักลดลงไปมากกว่า 3 กิโลกรัม โดยไม่ได้ออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารอย่างหนัก แบบนี้ถือว่าน้ำหนักลดลงผิดปกติ คราวนี้มาดูกันว่า น้ำหนักตัวลดผิดปกติบอกโรคอะไรได้บ้าง
1. โรคทางทันตกรรม
ในเคสที่รับประทานอาหารได้น้อยลง โดยมีอาการปวดฟัน เจ็บเหงือก มีแผลในปาก หรือมีภาวะกลืนลำบาก ก็ทำให้ไม่อยากอาหารจนน้ำหนักลดได้เหมือนกัน และอาการป่วยนี้ก็เป็นเรื้อรัง อย่าได้นิ่งนอนใจนะคะ เพราะแค่ฟันผุก็อาจอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด
2. ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
บางคนกินได้ตามปกติ แต่ก็มีอาการท้องเดิน ท้องเสียอยู่ตลอด เคสนี้ก็ควรต้องเช็กระบบทางเดินอาหารของตัวเองหน่อยว่ามีความผิดปกติตรงจุดไหนไหม เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ โรคโครห์น หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นต้น
3. ภาวะติดเชื้อในร่างกาย
หากรู้สึกไม่สบาย และมีอาการเบื่ออาหาร ความอยากอาหารลดลง ร่วมกับมีไข้ กรณีนี้อาจพบภาวะอักเสบติดเชื้อในร่างกาย ซึ่งก็ควรรีบรักษาให้หายเป็นปกติ
4. โรคเบาหวาน
หากกินอาหารปกติ หรืออาจจะอยากกินอาหารมากกว่าปกติด้วยซ้ำ แต่น้ำหนักกลับลดลง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล แบบนี้อาจต้องสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน โดยหากมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็ควรรีบไปตรวจเช็กสุขภาพโดยด่วน
5. ไทรอยด์
ไทรอยด์เป็นต่อมที่ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย สัมพันธ์กับการทำงานด้านควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย การขับถ่าย และควบคุมพลังงานในร่างกาย ซึ่งถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป ก็อาจส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติไปด้วย โดยเฉพาะหากมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ก็จะพบอาการน้ำหนักตัวลดผิดปกติ เหนื่อยง่าย ใจสั่น มือสั่น หิวบ่อย ผมร่วง ประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น
6. โรคเครียด
ภาวะความเครียด รวมไปถึงภาวะอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล โรคซึมเศร้า ก็มีผลต่อพฤติกรรมการกินอาหาร และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เช่น บางคนเครียดแล้วกินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหน ทำให้ดูซูบผอมหรือน้ำหนักตัวลดผิดปกติได้เช่นกัน
7. วัณโรคปอด
ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หรือเป็นไข้เรื้อรัง ร่วมกับภาวะน้ำหนักตัวลดผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงเป็นวัณโรคปอดอยู่ก็ได้ ยังไงรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายจะดีกว่า
8. โรคเรื้อรังต่าง ๆ
เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง หรือภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ผู้ป่วยก็จะมีอาการน้ำหนักตัวลดฮวบฮาบได้เช่นกันค่ะ
9. มะเร็งต่าง ๆ
หากมีภาวะผอมลงอย่างเห็นได้ชัด มีอาการอ่อนเพลียผิดปกติ หรือมีอาการไม่สบายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องมาก เบื่ออาหาร ปวดกระดูก ปวดร่างกาย ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการผิดปกติที่เป็นโดยด่วน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งก็เป็นได้ เช่น
* มะเร็งกระเพาะอาหาร น้ำหนักตัวลดพร้อมมีอาการจุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะอาหาร
* มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการท้องผูก ท้องเดิน หรือท้องเดินสลับท้องผูกเรื้อรัง อาจถ่ายเป็นเลือดเรื้อรังและน้ำหนักตัวลดฮวบฮาบ
* มะเร็งตับ น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ร่วมกับอาการปวด หรือจุกแน่นชายโครงข้างขวา ท้องบวม ท้องอืดแน่น ตาเหลือง อ่อนเพลียมากกว่าปกติ เป็นต้น
* มะเร็งปากมดลูก น้ำหนักตัวลด ร่วมกับมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเรื้อรัง นานเป็นเดือน ๆ
10. โรคเอดส์
ในคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้ยาเสพติดแบบฉีด มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และมีน้ำหนักตัวลด ร่วมกับมีไข้เรื้อรัง ลิ้นเป็นฝ้าหนา ท้องเสียบ่อย แนะนำให้ไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV โดยเร็ว
นอกจากโรคและภาวะผิดปกติดังกล่าวแล้ว ในคนที่กินยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่น ยาระบาย แอมเฟตามีน ดิจิตาลิส ก็อาจมีภาวะน้ำหนักตัวลดผิดปกติด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยต่อสุขภาพเท่าไร ยังไงก็อยากให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสักหน่อยนะคะ
ขอบข้อมูลดีๆ จากเว็บ
Kapook.com